วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พระอัจฉริยภาพทางด้านโหราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และดวงพระชะตา (ตอนที่ 3)

นอกจากพระองค์ท่านจะทรงทราบถึงดวงพระชะตากำเนิดของพระองค์แล้ว ดังที่ผมได้อรรถาธิบายไว้ในตอนที่ 1 และ 2 พระองค์ยังทรงทราบถึงการพยากรณ์ดวงชะตาจรอีกด้วย ซึ่งหลายๆท่านก็คงทราบกันดีว่า การพยากรณ์ดวงชะตาจรได้อย่างแม่นยำนั้น มีความยากเพียงใด เนื่องเพราะแต่ละคนมีดวงชะตากำเนิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นดวงดาวแต่ละดวงจึงส่งผลแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ในบางช่วงเวลา ผมสันนิษฐานว่าพระองค์ท่านได้ทรงแก้ไขดวงพระชะตาของพระองค์เองอีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่ดีที่พระองค์ทรงคาดว่าจะเกิด ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้น เราลองมาดูเหตุการณ์สำคัญๆในส่วนพระองค์กันครับ

พระบรมราชชนก
(ภาพจากวิกิพีเดีย)

พระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ในขณะที่พระองค์ท่านมีพระชนมายุเพียง 2 พรรษา พระบรมราชชนกได้ทรงนิวัติประเทศไทยหลังจากสำเร็จการศึกษาสาสขาแพทยศาสตร์เกียรตินิยมจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่พระบรมราชชนกทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงนัก จึงทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์ในวันดังกล่าว

ดวงจรวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472
ตามรูปดวงจรในวันนั้น ผมจะวิเคราะห์ดวงดาวหลักๆให้ทราบกันก่อนครับ

ดาวมฤตยู(๐) โคจรในราศีมีน สถิตภพศุภะในดวงพระชะตา พยากรณ์ได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันเกี่ยวข้องกับพระบรมราชชนก โดยปกติโหรหลายๆท่านใช้ดาวมฤตยู(๐)พยากรณ์ในเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ดังที่กล่าวกันเป็นคำกลอนว่า "... ทายภัยอาเภท ทายมฤตยู"

ดาวพฤหัส(๕) โคจรในราศีพฤษภ สถิตภพลาภะ กุมดาวราหู(๘)ในดวงกำเนิดซึ่งให้โทษในตำแหน่งนิจและยังเป็นดาวมรณะอีกด้วย ดาวพฤหัส(๕)นี้คือตัวแทนของพระบรมราชชนกนั่นเอง

พระปรเมทรมหาอานันทมหิดล
(ภาพจากวิกิพีเดีย)

พระเชษฐาธิราชสวรรคต


ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นวันที่พระองค์ท่านได้ทรงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในทุกเรื่อง ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่พระองค์ท่านมิได้ทรงปรารถนา อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นราชันย์แห่งกษัตริย์ทั้งปวง เนื่องจากเป็นวันที่พระองค์ท่านได้ทรงเสียพระเชษฐาธิราชของพระองค์ไปอย่างไม่มีวันกลับ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นวันที่พระองค์ได้รับการทูลเชิญให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี

ดังที่ผมได้กล่าวไว้แล้วว่าพระลัคนาของพระองค์ท่านทรงสถิตในราศีกรกฎ และตามรูปดวงจรในวันนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

ดวงจรวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
ดาวมฤตยู(๐) โคจรในราศีพฤษภ สถิตภพลาภะในดวงพระชะตา พยากรณ์ได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันเกี่ยวข้องกับพระเชษฐาธิราช และดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ดาวดวงนี้โคจรเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 7 ปี ดังนั้น ต้องพิจารณาดาวดวงต่อไปที่จำกัดช่วงเวลาให้แคบเข้าไปอีก

ดาวราหู(๘) โคจรในราศีพฤษภ สถิตภพลาภะในดวงพระชะตา ได้ตำแหน่งนิจ ซึ่งเป็นตำแหน่งให้โทษอย่างรุนแรง พยากรณ์ได้ว่า พระเชษฐาธิราชจะประสบกับเหตุร้าย ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อดาวราหู(๘)ให้โทษในภพเรือนใด มักจะทำให้ภพเรือนนั้นป่วย เจ็บ ทะเลาะ ล้มหายตายจาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวราหู(๘)ของชาวราศีกรกฎเป็นดาวเจ้าเรือนมรณะ ภพแห่งการจากนั่นเอง แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 1 ปีครึ่งโดยประมาณ ยังต้องใช้ดาวดวงต่อไปจำกัดช่วงเวลาให้แคบลงอีก

ดาวอาทิตย์(๑) โคจรในราศีพฤษภ สถิตภพลาภะในดวงพระชะตา โดยปกติโหรมักใช้ดาวอาทิตย์(๑)พยากรณ์ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดในช่วงเดือนใด ในที่นี้คือประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดิอนมิถุนายน เรียกได้ว่าดาวอาทิตย์เป็นตัวซ้ำเติมเหตุการณ์นั่นเอง

ดาวจันทร์(๒) โคจรในราศีกันย์ กุมดาวพฤหัส(๕)ซึ่งกำลังให้โทษในตำแหน่งประ และดาวพฤหัส(๕)ยังเป็นดาวเจ้าเรือนอริของราศีกรกฎอีกด้วย พยากรณ์ว่าจะมีเรื่องมงคล เรื่องดีๆเกิดขึ้น แต่พระองค์ท่านคงไม่ทรงอยากรับนัก นั่นคือการรับทูลเชิญขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี

ภาพจากวิกิพีเดีย

ทรงหมั้น


หลังจากที่พระองค์ท่านทรงเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายๆมาตลอด ในที่สุดก็ถึงเวลาที่พระองค์ท่านจะเริ่มมีความสุขเสียที โดยทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ 

ดวงจรวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
โดยหลักเกณฑ์การพยากรณ์เรื่องการแต่งงาน การมีคู่ครอง ในทางโหราศาสตร์แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร โหรมักดูจากดาวพฤหัส(๕)เป็นหลักครับ เรามาดูรูปดวงจรกันว่าเป็นอย่างไร

ดาวมฤตยู(๐) โคจรในราศีเมถุน สถิตภพวินาสน์ ในช่วงเวลานี้ นับได้ว่าเหตุเภทภัยต่างๆได้สงบความเลวร้ายลงไป

ดาวพฤหัส(๕) โคจรในราศีมังกร สถิตภพปัตนิ ให้โทษในตำแหน่งนิจ แต่เมื่อดูมุมสัมพันธ์กับพระลัคนา ดาวอาทิตย์(๑) และดาวจันทร์(๒)แล้ว กลับอยู่ในตำแหน่งที่ดีเรียกว่าดวงแบบ "จันทร์ คุรุ สุริยา"

ในตอนนี้พอจะจับสังเกตกันได้แล้วนะครับว่า ดาวมฤตยู(๐)นั้นส่งผลกับพระลัคนาของพระองค์ท่านอย่างมีนัยสำคัญเพียงใด แต่เชื่อมั๊ยครับว่าพระองค์ท่านก็ทรงทราบในข้อสังเกตนี้เหมือนกัน คราวหน้าเป็นตอนสุดท้ายที่ผมจะบอกว่าพระองค์ท่านทรงแก้ไขอย่างไร เผื่อว่าพวกเราที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ จะได้นำหลักการนี้ไปปฏิบัติตามรอยพระบาทกันต่อไปครับ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น