วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วันฤกษ์ดีประจำปีพ.ศ.๒๕๖๐ ("เมื่อผมต้องหาฤกษ์แต่งงานปี 2560" ภาค ๒)

สืบเนื่องจากการที่ผมได้โพสต์บทความเกี่ยวกับการหาฤกษ์แต่งงานโดยมีข้อกำหนดที่ต้องสอดคล้องกับสภาพการดำเนินชีวิตในปัจจุบันเช่น มักจะแต่งงานกันในวันเสาร์ อาทิตย์หรือวันนักขัตฤกษ์เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำงานประจำของแขกเหรื่อที่จะมาร่วมงาน คือไม่ต้องลางานนั่นเองครับ จะได้มากันเยอะๆ และควรจะต้องจบทุกพิธีที่สำคัญในวันเดียวกันเช่น หมั้น แต่ง ส่งตัว จะได้ไม่ต้องเสียเวลายืดยาวไปหลายวัน

บทความที่ผมเขียนไว้นั้นได้มีผู้สอบถามมากมายถึงวันที่มีฤกษ์ดี ผมก็เลยคิดว่าน่าจะเขียนบทความสรุปให้เลยจะดีกว่า ว่าทั้งปีพ.ศ.๒๕๖๐นั้น มีวันดีๆที่สามารถจัดงานพิธีต่างๆได้ และจัดได้ทั้งวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกดินนั้น มีวันใดบ้าง หลังจากที่ผมได้ตรวจดูแล้ว พบว่าบางวันที่ดูเหมือนจะเป็นวันดี แต่ก็ดีไม่ตลอดวัน วันเหล่านี้ผมก็จะตัดทิ้งไป เพื่อให้ง่ายในการดูสำหรับบุคคลทั่วไปครับ

ก่อนอื่นผมขอบอกวิธีการพิจารณาฤกษ์มงคลก่อนครับ

สำหรับผมแล้ว ผมจะพิจารณาโดยใช้ทั้งฤกษ์บน(ดาวบนท้องฟ้า)และฤกษ์ล่าง(วันต่างๆที่คำนวณโดยไม่ใช้สมผุสดาวต่างๆ) และทั้งสองแบบนี้จะต้องไม่ขัดแย้งกัน คือถ้าฤกษ์บนดี ฤกษ์ล่างต้องดีด้วย มาเริ่มกันเลย

กาลโยค

เป็นการกำหนดวันมงคลแต่ละปีที่นิยมใช้กันมานมนานกาเล ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดคำนวณ แต่ขอบอกว่า กาลโยคจะเริ่มนับจากวันสงกรานต์เป็นต้นไปเป็นเวลา 1 ปี ถ้านับปีตามปฏิทินสากลโดยเริ่มจากเดือนมกราคมถึงธันวาคม วันมงคลตามหลักกาลโยคจะถูกแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนสงกรานต์ และหลังสงกรานต์

วันตามหลักกาลโยคจะแบ่งเป็น 4 แบบคือ
  • วันธงชัย
  • วันอธิบดี
  • วันอุบาทว์
  • วันโลกาวินาส
ถ้าวันใดเป็นเป็นวันธงชัยหรือวันอธิบดี วันนั้นจะสามารถจัดงานมงคลใดๆก็ได้ในปีนั้น แต่ถ้าวันใดเป็นวันอุบาทว์หรือวันโลกาวินาส วันนั้นไม่ควรประกอบพิธีมงคลใดๆทั้งสิ้น

กาลโยคก่อนสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ได้แก่

  1. วันเสาร์ เป็นวันธงชัย
  2. วันพุธ เป็นวันอธิบดี
  3. วันเสาร์ เป็นวันอุบาทว์
  4. วันเสาร์ เป็นวันโลกาวินาส
นั่นคือก่อนวันสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ไม่ควรจัดงานมงคลใดๆในวันเสาร์


กาลโยคหลังสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ได้แก่

  1. วันอังคาร เป็นวันธงชัย
  2. วันพฤหัส เป็นวันอธิบดี
  3. วันจันทร์ เป็นวันอุบาทว์
  4. วันเสาร์ เป็นวันโลกาวินาส
นั่นคือหลังวันสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๐ ไม่ควรจัดงานมงคลใดๆในวันจันทร์และวันเสาร์


หมวดฤกษ์

มี 9 หมวดได้แก่ มหัทธโน โจโร ภูมิปาโล เทศาตรี เทวี เพชรฆาต ราชา สมโณ ทลิทโท ซึ่งคำนวณมาจากสมผุสของดวงดาวบนท้องฟ้า เรียกว่าเป็นฤกษ์บนนั่นเอง ส่วนวิธีการคำนวณ ผมไม่ขอกล่าวถึงอีกเช่นกัน เพราะยุ่งยากมากกว่ากาลโยคเสียอีก

ในจำนวนหมวดฤกษ์ทั้งหมดนี้ ผมกล่าวโดยสรุปก่อนว่า มหัทธโนฤกษ์ เทวีฤกษ์ และราชาฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่ใช้สำหรับการจัดงานมงคลทุกประเภท และโดยทั่วไปจะใช้สมผุสของดาวจันทร์(๒)เป็นหลักในการพิจารณาฤกษ์ครับ

ดิถีเรียงหมอน

เป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรมทางจันทรคติเพื่อใช้กำหนดวันส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าสู่เรือนหอ ใช้สำหรับพิธีแต่งงานเท่านั้น อาจไม่จำเป็นต้องตรงกับวันหมั้นหรือวันแต่งงานก็ได้

กฎเกณฑ์ก็คือวันขึ้น 7, 10, 13 ค่ำ และวันแรม 4, 8, 10, 14 ค่ำ จึงจะสามารถทำพิธีการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ครับ

วันมงคลประจำปีพ.ศ.๒๕๖๐

จากหลักการข้างต้นผมขอสรุปวันที่ใช้ทำการมงคลได้ตลอดทั้งวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกดังนี้ครับ


x = ทำพิธีส่งตัวคู่บ่าวสาวได้




วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระอัจฉริยภาพทางด้านโหราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และดวงพระชะตา (ตอนจบ)

เกริ่นไว้เมื่อตอนที่แล้วว่า ดาวมฤตยู(๐)มักจะส่งผลร้ายกับพระองค์ท่านมาโดยตลอด ทั้งเรื่องของพระบรมราชชนกและเรื่องพระเชษฐาธิราช ซึ่งพระองค์ท่านสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักทั้งสองพระองค์ในช่วงที่ดาวดวงนี้โคจรมากระทบตำแหน่งศุภะ(บิดา)และลาภะ(พี่)ในเรือนพระชะตา

ดวงพระชะตา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

ในตอนนี้ผมจะขอทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อน เกี่ยวกับจุดเปราะบางของทุกดวงขะตาที่เมื่อดาวใดๆโคจรมาทับ(กุม)แล้ว จะส่งผลดีร้ายตามสถานภาพของดาวนั้นๆ และโหรมักจะนำมาใช้ในการพยากรณ์จร ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง จุดนี้เรียกว่า จุดเจ้าชะตา

จุดเจ้าชะตาแรกที่สำคัญที่สุดคือ "ลัคนา" ซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของทุกดวงชะตา สำหรับพระลัคนาของพระองค์ท่านสถิตอยู่ ณ ราศีกรกฎครับ

จุดเจ้าชะตาที่สองที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ "เจ้าเรือนลัคนา" สำหรับตำแหน่งนี้ของพระองค์ท่านคือ ดาวจันทร์(๒)ที่สถิตอยู่ ณ ราศีเมษ เนื่องเพราะดาวจันทร์(๒)นี้คือเจ้าเรือนของราศีกรกฎนั่นเอง โดยทั่วไป โหรใช้พยากรณ์สิ่งที่เจ้าชะตาต้องการหรือสิ่งที่กังวลสนใจ

จุดเจ้าชะตาที่สามที่โหรมักจะใช้กันคือ ดาวอาทิตย์(๑) จุดนี้จะใช้สำหรับตรวจดูทางกายภาพ (Physical) เช่นลักษณะของร่างกายหรือสุขภาพของเจ้าชะตา

เมื่อทราบดังนี้แล้ว ต่อไปเรามาดูกันว่าพระองค์ท่านจะทรงแก้ไขอย่างไรเมื่อดาวมฤตยู(๐)โคจรมากระทบกับจุดเจ้าชะตาของพระองค์
ทรงผนวช วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙

ทรงผนวช

โดยปกติแล้วผู้ชายชาวไทยมักจะอุปสมบทหรือบรรพชาเมื่ออายุครบ20ปีบริบูรณ์ แต่สำหรับพระองค์ท่านทรงผนวชในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ในขณะพระชนมายุย่าง 29 พรรษา ทำไมล่ะครับ?

ช่วงที่พระชนมายุ 20 พรรษา พระองค์ท่านยังทรงมีภารกิจทางการศึกษาอยู่ หลังจากนั้นพระองค์ท่านก็ยังไม่มีโอกาสให้ทรงผนวช เนื่องจากพระองค์ท่านยังทรงติดภารกิจต่างๆในต่างประเทศ รวมถึงพระองค์ยังทรงได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปีพ.ศ. 2491 จนกระทั่งทรงได้พบรักและทรงมีพระบรมราชาภิเษกในที่สุด ดังที่ผมได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว

และเป็นธรรมดาสำหรับคนที่มีครอบครัวแล้วก็ต้องมีบุตรธิดา พระองค์ท่านก็เช่นกัน ทรงมีพระราชธิดาและพระราชโอรส ก่อนที่ดาวมฤตยู(๐)จะโคจรทับพระลัคนาระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2496 ถึง วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ในระหว่างนั้นยังมีดาวราหู(๘)โคจรเข้าเรือนปุตตะ(บุตรบริวาร)ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2498 ถึง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระองค์ท่านทรงออกผนวช เนื่องเพราะอาจจะเกรงว่าพระราชธิดาและพระราชโอรสจะทรงได้รับอันตรายเหมือนกับที่พระองค์ท่านเคยประสบมาแล้วจากการที่ดาวราหู(๘)โคจรทับดาวเจ้าเรือนพระลัคนาในราศีเมษ

การที่พระองค์ท่านทรงผนวชนั้น ในทุกยุคทุกสมัย บุคคลชั้นสูงมักจะนำมาใช้ในการแก้เคล็ดเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ นัยว่าเป็นการตายจาก จะได้หมดเคราะห์กันไป เราๆท่านๆก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้กันได้นะครับ แต่ข้อสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือ ฤกษ์สึก ซึ่งถือเป็นการเกิดใหม่ จึงต้องมีการวางฤกษ์ให้ดี เพื่อที่ว่าชีวิตหลังสึกจะได้ดีตามฤกษ์ที่วางไว้
ดวงพระชะตาจร
ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
เวลา ๑๕.๕๒ นาฬิกา
(ตัวเลขสีแดง) สัมพัทธ์
กับดวงพระชะตากำเนิด(ตัวเลขสีดำ)

สวรรคต

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันที่ผมเองคาดไม่ถึง เพราะผมคิดไปเองว่า ดาวเสาร์(๗)ที่กำลังโคจรทับดาวอาทิตย์(๑)กำเนิดซึ่งทำให้พระวรกายอ่อนแอ และดาวมฤตยู(๐)ที่กำลังโคจรทับดาวจันทร์(๒)เจ้าเรือนพระลัคนาอยู่ ยังไม่น่าจะทำอะไรได้ น่าจะมีอีกหนึ่งดวงคือดาวราหู(๘)ซึ่งเป็นเจ้าเรือนมรณะของพระองค์ท่านกำลังโคจรเข้ามาทับพระลัคนาในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุนี้ ผมคาดคะเนไว้ในเบื้องตนว่าพระองค์ท่านน่าจะสวรรคตตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

แต่กาลกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผมก็เลยต้องรีบย้อนกลับมาดูใหม่ว่าทำไมไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ผมก็เลยพบข้อสังเกตุอีกอย่างหนึ่งคือ ดาวจันทร์(๒)เจ้าเรือนพระลัคนากำลังโคจรอยู่ในเรือนมรณะนั่นเอง

สรุปได้ว่านอกจากดาวมฤตยู(๐)แล้ว เราก็ต้องระวังดาวเจ้าเรือนลัคนาของตัวเองด้วย เมื่อใดก็ตามที่ดาวเจ้าเรือนลัคนาโคจรอยู่ในตำแหน่งด้อยเช่น ประ หรือนิจ รวมถึงการโคจรอยู่ในทุสถานะภพอันได้แก่ อริ มรณะ หรือวินาสน์ ก็เป็นไปได้ว่าสุขภาพจะอ่อนแอลงกว่าปกติ ความคิดความอ่านก็มักจะไม่คล่องแคล่วว่องไว ไม่มีความสุข

สำหรับพระองค์ท่านแล้ว เมื่อไรที่ดาวจันทร์(๒)เจ้าเรือนพระลัคนาโคจรในราศีพิจิก(นิจ) หรือราศีธนู(อริ) หรือราศีมังกร(ประ) หรือราศีกุมภ์(มรณะ) หรือราศีเมถุน(วินาสน์) ก็ล้วนทำให้พระองค์ท่านทรงพระประชวรได้ทั้งสิ้น

ถ้าถามว่าทรงพระประชวรบ่อยแค่ไหน ผมขอบอกว่า ตั้งแต่ดาวมฤตยู(๐)โคจรทับดาวจันทร์(๒)เจ้าเรือนพระลัคนาเมื่อตอนต้นปีพ.ศ. 2559 พระองค์ท่านจะทรงพระประชวรแทบทุกเดือน เพราะดาวจันทร์(๒)โคจรผ่านราศีที่บอกทุกเดือน (ดาวจันทร์โคจรผ่านทุกราศีจะใช้เวลาประมาณเกือบหนึ่งเดือน)

อีกประการหนึ่งก็คือดาวมฤตยู(๐)เป็นดาวที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์แบบปัจจุบันทันด่วน ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ทันตั้งตัว ก็อาจเป็นเหตุให้พระองค์ท่านสวรรคตแบบที่ใครๆหรือแม้กระทั่งผมเองก็ไม่ทันได้เตรียมใจไว้ก่อน

จริงๆแล้วผมยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่สามารถนำมายกตัวอย่างได้ เช่นเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ความสัมพันธ์ของพระองค์ท่านกับบุคคลทางการเมืองการทหาร แต่เกรงว่าจะใช้เวลานานเกินไป ก็เลยขอจบบทความพระอัจฉริยภาพทางด้านโหราศาสตร์ของพระองค์ท่านไว้เพียงเท่านี้ และขอน้อมส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัยด้วยเทอญ