วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฤกษ์มงคลประจำปีพ.ศ.๒๕๖๑

ดูลีลาการโคจรของดวงดาวในปีพ.ศ.๒๕๖๑แล้ว ทำให้ผมต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวหลายๆอย่าง ก็เลยไม่ค่อยจะมีเวลาเขียนบทความให้อ่านกันได้ทุกสัปดาห์เหมือนก่อน คราวนี้เป็นเรื่องที่ผมลืมไปว่าควรจะต้องเขียนเป็นประจำทุกๆปีก็คือเรื่องฤกษ์งามยามดีนั่นเอง เพื่อเป็นบทสรุปในการจัดงานมงคลต่างๆสำหรับบุคคลทั่วไปนำไปใช้ได้ตลอดทั้งวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกดิน

ก่อนอื่นผมขอบอกวิธีการพิจารณาฤกษ์มงคลก่อนครับ

สำหรับผมแล้ว ผมจะพิจารณาโดยใช้ทั้งฤกษ์บน(พิจารณาดาวบนท้องฟ้า)และฤกษ์ล่าง(วันต่างๆที่คำนวณโดยไม่ใช้สมผุสดาวต่างๆ) และทั้งสองแบบนี้จะต้องไม่ขัดแย้งกัน คือถ้าฤกษ์บนดี ฤกษ์ล่างต้องดีด้วย มาเริ่มกันเลย

กาลโยค

เป็นการกำหนดวันมงคลแต่ละปีที่นิยมใช้กันมานมนานกาเล ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดคำนวณ แต่ขอบอกว่า กาลโยคจะเริ่มนับจากวันสงกรานต์เป็นต้นไปเป็นเวลา 1 ปี ถ้านับปีตามปฏิทินสากลโดยเริ่มจากเดือนมกราคมถึงธันวาคม วันมงคลตามหลักกาลโยคจะถูกแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนสงกรานต์ และหลังสงกรานต์

วันตามหลักกาลโยคจะแบ่งเป็น 4 แบบคือ
  • วันธงชัย
  • วันอธิบดี
  • วันอุบาทว์
  • วันโลกาวินาส
ถ้าวันใดเป็นเป็นวันธงชัยหรือวันอธิบดี วันนั้นจะสามารถจัดงานมงคลใดๆก็ได้ในปีนั้น แต่ถ้าวันใดเป็นวันอุบาทว์หรือวันโลกาวินาส วันนั้นไม่ควรประกอบพิธีมงคลใดๆทั้งสิ้น

กาลโยคก่อนสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๑ ได้แก่

  1. วันอังคาร เป็นวันธงชัย
  2. วันพฤหัส เป็นวันอธิบดี
  3. วันจันทร์ เป็นวันอุบาทว์
  4. วันเสาร์ เป็นวันโลกาวินาส
นั่นคือก่อนวันสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๑ ไม่ควรจัดงานมงคลใดๆในวันจันทร์และวันเสาร์


กาลโยคหลังสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๑ ได้แก่

  1. วันศุกร์ เป็นวันธงชัย
  2. วันศุกร์ เป็นวันอธิบดี
  3. วันพฤหัส เป็นวันอุบาทว์
  4. วันอาทิตย์ เป็นวันโลกาวินาส
นั่นคือหลังวันสงกรานต์ปีพ.ศ.๒๕๖๑ ไม่ควรจัดงานมงคลใดๆในวันพฤหัสและวันอาทิตย์


หมวดฤกษ์

มี 9 หมวดได้แก่ มหัทธโน โจโร ภูมิปาโล เทศาตรี เทวี เพชรฆาต ราชา สมโณ ทลิทโท ซึ่งคำนวณมาจากสมผุสของดวงดาวบนท้องฟ้า เรียกว่าเป็นฤกษ์บนนั่นเอง ส่วนวิธีการคำนวณ ผมไม่ขอกล่าวถึงอีกเช่นกัน เพราะยุ่งยากมากกว่ากาลโยคเสียอีก

ในจำนวนหมวดฤกษ์ทั้งหมดนี้ ผมกล่าวโดยสรุปก่อนว่า มหัทธโนฤกษ์ เทวีฤกษ์ และราชาฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่ใช้สำหรับการจัดงานมงคลทุกประเภท และโดยทั่วไปจะใช้สมผุสของดาวจันทร์(๒)เป็นหลักในการพิจารณาฤกษ์ครับ

ดิถีเรียงหมอน

เป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรมทางจันทรคติเพื่อใช้กำหนดวันส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าสู่เรือนหอ ใช้สำหรับพิธีแต่งงานเท่านั้น อาจไม่จำเป็นต้องตรงกับวันหมั้นหรือวันแต่งงานก็ได้

กฎเกณฑ์ก็คือวันขึ้น 7, 10, 13 ค่ำ และวันแรม 4, 8, 10, 14 ค่ำ จึงจะสามารถทำพิธีการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ครับ

วันมงคลประจำปีพ.ศ.๒๕๖๑

จากหลักการข้างต้นผมขอสรุปวันที่ใช้ทำการมงคลได้ตลอดทั้งวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกดังนี้ครับ

x ในช่องดิถีเรียงหมอน หมายถึง เป็นวันที่สามารถจัดพิธีส่งตัวคู่บ่าวสาวได้