วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฤกษ์คลอด ตอนที่ ๓ - เตรียมผ่าคลอดตามฤกษ์


สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนเป็นอันดับแรกคือความสมบูรณ์ของอวัยวะของเด็ก ดังนั้นในขั้นแรกต้องไปปรึกษาแพทย์ก่อนว่าช่วงเวลาใดที่เหมาะในการคลอดมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วอายุครรภ์ที่เหมาะสมที่สุดที่สามารถทำการผ่าตัดคลอดได้คือช่วงสัปดาห์ที่ 38 ถึง 40 อวัยวะของเด็กจะสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เปรียบเสมือนกับผลไม้ที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวได้จากต้น ถ้าเก็บเกี่ยวในขณะที่ยังดิบหรือยังอ่อนอยู่ก็คงไม่อร่อย ถ้าปล่อยให้สุกคาต้น ผลไม้ก็คงไม่อยู่รอให้เก็บอาจจะร่วงผล็อยลงจากต้นเสียก่อน

ลิ้งค์บทความที่เกี่ยวข้อง
1. ฤกษ์คลอด ตอนที่ ๒ - ทำไมต้องผ่าคลอด
2. ฤกษ์คลอด ตอนที่ ๔ - ข้อโต้แย้ง(เมื่อโหรใหญ่ทำลายอาชีพของตัวเอง!)

ภาพจากเครื่องอัลตร้าซาวด์ อายุครรภ์ 10 สัปดาห์
การนับอายุครรภ์ว่าเป็นเท่าไร ไม่ใช่เรื่องยาก แพทย์จะเริ่มนับจากวันที่ประจำเดือนมาเป็นครั้งสุดท้ายคือเริ่มสัปดาห์แรก ถ้าจำไม่ได้จริงๆว่ามาครั้งสุดท้ายเมื่อไร ก็สอบถามจากแพทย์ได้ แพทย์ก็สามารถจะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจดูได้ ผลลัพธ์ก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก

การไปให้แพทย์ตรวจเพื่อกำหนดช่วงวันที่คลอดได้ ควรจะไปแต่เนิ่นๆ อาจจะล่วงหน้าอย่างน้อยสัก 4 สัปดาห์ก่อนคลอดหรือประมาณเดือนที่ 8 เพื่อจะได้มีเวลาไปให้โหรช่วยวางฤกษ์คลอดตามช่วงเวลาที่แพทย์ได้กำหนดไว้
ขอแนะนำโหรพิเภก

ขั้นที่สอง หาเวลาปรึกษาโหรเพื่อบอกช่วงวันที่ที่สามารถผ่าคลอดได้ ถึงตอนนี้ขอแนะนำว่าควรไปหาโหรอย่างน้อย 2 ท่าน เพื่อนำฤกษ์จากทั้งสองท่านมาเปรียบเทียบกัน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โหรบางท่านก็คำนวณเวลาผิดพลาด ทำให้เด็กไม่ได้เกิดตามฤกษ์ที่ต้องการจริงๆ แต่ถ้าไม่มีงบประมาณเพียงพอหรือไม่มีเวลาพอ ก็ขอให้เลือกโหรที่ดูแล้วน่าจะไว้ใจได้มากที่สุดสัก 1 ท่าน อันนี้ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมครับ แต่ขอแนะนำว่าควรจะเลือกโหรที่อธิบายหลักการให้เราเข้าใจได้ดีที่สุด

เมื่อได้ฤกษ์คลอดที่แน่นอนแล้ว ขั้นที่สามก็ควรไปพบแพทย์ก่อนวันทำคลอดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนถึงฤกษ์คลอด เพื่อนัดทีมแพทย์กันให้เรียบร้อยเพราะแพทย์บางท่านอาจจะมีคิวยาวสักหน่อย หรือบางทีก็อาจมีเด็กคนอื่นใช้ฤกษ์คลอดเดียวกันซึ่งคงต้องมีการชิงไหวชิงพริบกัน แบบใครไปนัดแพทย์ได้ก่อนก็ได้ฤกษ์นั้นไป แพทย์บางท่านก็อาจจะพยายามหว่านล้อมให้คลอดตามเวลาที่แพทย์เองสะดวก อันนี้ขอแนะนำว่าให้ทำใจแข็งเข้าไว้เพื่อจะได้ตามฤกษ์คลอดที่ต้องการ มิฉะนั้นอาจเสียเงินค่าวางฤกษ์ไปเปล่าๆ เรียกว่า เสียฤกษ์ (ฮา...)
ห้องคลอด

ค่าใช้จ่ายอีกอันหนึ่งที่จะเกิดตามมาก็คือค่าจองห้องผ่าตัด ซึ่งก็แล้วแต่โรงพยาบาลจะคิด สำหรับใครที่มีฐานะดีหน่อย ก็อาจจะเตรียมสินน้ำใจ หรือของเล็กๆน้อยๆไว้ให้แพทย์ผู้ทำคลอดด้วยก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

เรื่องสำคัญที่จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนก็คือ การนับเวลาตกฟาก อาจมีข้อสงสัยว่าจะใช้เวลาช่วงไหน ในทางโหราศาสตร์จะถือเอาตอนที่เด็กร้องไห้ออกมาอุแว้แรกเป็นเวลาตกฟาก ไม่ใช่ตอนที่เด็กพ้นจากท้องแม่ หรือตอนที่ตัดสายสะดือนะครับ

หลังจากนั้น ขั้นที่สี่ แม่เด็กก็ควรเริ่มเก็บเนื้อเก็บตัว อย่าทำงานหักโหมมากเกินไป เดี๋ยวจะกลายเป็นคลอดก่อนกำหนด เดือดร้อนต้องไปให้โหรวางฤกษ์กันใหม่แบบปัจจุบันทันด่วน เสียเงินเสียทองอีกโดยใช่เหตุ

ตั้งชื่อแบบทักษา
ช่วงนี้ ถ้าจะตั้งชื่อลูกไว้เสียเลยก็เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ การตั้งชื่อก็ควรคิดถึงหลักทักษาและเลขศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย หรืออาจจะไปพึ่งบริการโหรคนเดิมให้ตั้งชื่อให้ด้วยเสียเลยก็ได้ เพราะหลังจากคลอดแล้ว รับรองว่าต้องได้ใช้ทันทีแน่นอนสำหรับการแจ้งเกิดและการทำสูติบัตร

ในกรณีที่ทราบจากแพทย์แล้วว่าบุตรเป็นเพศชายก็อาจจะเตรียมชื่อไว้เพียงชื่อเดียวน่าจะเพียงพอ แต่ถ้าแพทย์บอกว่าเป็นเพศหญิง ก็ควรจะเตรียมชื่อเผื่อไว้ทั้งชายและหญิง เพราะโอกาสที่จะเป็นเพศชายยังมีอยู่ เป็นไปได้ว่าในขณะที่แพทย์ทำอัลตร้าซาวด์เพื่อจะดูเพศ เด็กอาจจะอยู่ในท่าที่หนีบอวัยวะเพศชายไว้ทำให้ดูเหมือนเป็นเพศหญิงได้

และแน่นอนว่าหลังจากคลอดแล้ว บรรดาญาติสนิทมิตรสหายก็อาจจะวนเวียนกันมาเยี่ยมเยียนกันได้ พ่อเด็กก็ควรจะเตรียมพื้นที่ที่บ้านไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับแขกเหรื่อ

ขั้นสุดท้าย พอถึงวันคลอดก็ควรระงับอารมณ์ไม่ให้ตื่นเต้นมากจนเกินไป อาจใช้วิธีทำสมาธิช่วยอีกทางหนึ่งก็ได้ และควรพยายามรับประทานอาหารให้อิ่มเพราะจะต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

ส่วนพ่อเด็กก็ไม่ควรอยู่เฉยๆให้แม่เด็กอารมณ์เสีย ควรจัดเตรียมสิ่งของอำนวยความสะดวกต่างๆเท่าที่จะหาได้ ตั้งแต่รถรับส่ง(ถ้ามี) ผ้าอ้อมเด็ก ชุดเด็กอ่อน เสื้อผ้าของแม่เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล กล้องถ่ายรูป ฯลฯ ถ้าใครจะซื้อดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ศาลพระภูมิประจำโรงพยาบาลก็ไม่แปลกกระไร