วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เมื่อผมต้องหาฤกษ์แต่งงานปี 2560

ผมได้รับการไหว้วานจากญาติสนิทมิตรสหายให้ช่วยหาฤกษ์แต่งงานในปี 2560 โดยมีข้อกำหนดหลายประการ ซึ่งคิดว่าหลายๆท่านก็คงมีความต้องการที่คล้ายๆกัน ที่สำคัญๆก็คือ พิธีการทุกอย่างต้องเสร็จภายในวันเดียว และต้องเป็นวันศุกร์ วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เพื่อจะได้สะดวกสบายสำหรับแขกเหรื่อที่จะต้องเดินทางมาร่วมงานโดยไม่ต้องลางานให้เสียเวลา

โดยปกติการหาฤกษ์แต่งงานนั้น ตั้งแต่โบราณกาลเรามีกฏเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณาดังนี้

1. ดิถีเรียงหมอน

การแต่งงานที่สมบูรณ์นั้น จะมีขั้นตอนการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่เรือนหอเป็นขั้นตอนสุดท้าย ในสมัยก่อนเราจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันข้างขึ้นข้างแรมอะไรบ้างที่เหมาะสมในการส่งตัว ทำให้ชีวิตสมรสมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่กันจนถึงไม้เท้ายอดทองตะบองยอดเพชร ฤกษ์ที่ใช้สำหรับส่งตัวนั้นจะต้องตรงกับหรือต้องเป็นวันเดียวกันกับดิถีเรียงหมอนครับ

ส่วนวิธีที่ใช้ในการดูว่าวันใดมีดิถีเรียงหมอนนั้น ดูได้จากรูปที่ผมถ่ายมาจากหนังสือ "เรื่องฤกษ์และการให้ฤกษ์ การคำนวณดวงพิชัยสงคราม"ของท่านอาจารย์สิงห์โต สุริยาอารักษ์ ได้เลยครับ

สรุปเลยก็คือวันขึ้น 7, 10, 13 ค่ำ และวันแรม 4, 8, 10, 14 ค่ำ จึงจะทำการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ครับ

2. กาลโยค และฤกษ์ล่างอื่นๆ

ฤกษ์ล่างคือฤกษ์ที่ใช้พิจารณาวันที่เหมาะสมโดยดูจาก วันทั้ง7 ข้างขึ้น ข้างแรม ดิถีเรียงหมอนจากข้อ 1 ก็ถือว่าเป็นฤกษ์ล่างเช่นกัน

มีอีกหลายกฏเกณฑ์เช่น ดิถีฤกษ์ชัย ดิถีพิฆาต วันจม วันฟู วันลอย  ฯลฯ แต่ในหัวข้อนี้ขอยกเอาเรื่อง "กาลโยค" มาใช้ เพราะนิยมใช้มากที่สุด มี 4วันคือ วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ โดยวันที่ใช้ควรเป็นวันธงชัย หรือวันอธิบดีเท่านั้น ถ้าไม่ได้จริงๆก็ไม่ควรตรงกับวันอุบาทว์หรือวันโลกาวินาศ

ทุกๆปีโหรจะคำนวณว่าวันธงชัยหรือวันอธิบดีตรงกับวันไหนใน 7 วันเช่น ปีพ.ศ.2559(โดยนับจากวันสงกรานต์เป็นต้นไปจนถึงก่อนวันสงกรานต์อีกปีหนึ่ง) วันธงชัยตรงกับวันเสาร์ และวันอธิบดีตรงกับวันพุธ ส่วนวันอุบาทว์และวันโลกาวินาศตรงกับวันศุกร์ครับ

ที่ผมไม่ค่อยได้ใช้หลักเกณฑ์อื่นๆร่วมด้วยเพราะ ถ้าขืนใช้กฎเกณฑ์มากเกินไปจะไม่สามารถหาวันที่เหมาะสมได้นั่นเองครับ เนื่องจากกฎเกณฑ์หนึ่งดีแต่อาจไม่ดีสำหรับอีกกฏเกณฑ์หนึ่ง

3. ฤกษ์บน

คือการพิจารณาจากดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่มักจะดูจากดาวจันทร์เป็นเบื้องต้น ดูว่าดาวจันทร์โคจรสถิตอยู่ในฤกษ์อะไรหรือกลุ่มดาวนักษัตรอะไร ส่วนใหญ่มักจะเป็น ราชาฤกษ์ เทวีฤกษ์ หรือมหัทธโนฤกษ์ ครับ

สำหรับข้อนี้ คงต้องหาเวลาปรึกษาโหรเพื่อคำนวณตำแหน่งของดวงดาวดวงอื่นๆด้วย เพื่อที่จะลงลึกถึงเวลานาทีที่เหมาะสมที่จะประกอบพิธีกรรมต่างๆให้ได้ผลดีที่สุด


จากกฏเกณฑ์ที่เล่ามา ผมก็ดูวันข้างขึ้นข้างแรมทั้งปีเพื่อสำรวจดิถีเรียงหมอน ว่ามีวันใดที่ตรงกับวันธงชัยหรือวันอธิบดีหรือไม่ หลังจากนั้นก็นำวันที่นั้นมาดูฤกษ์บนอีกทีว่ามีวันใดตรงกับราชาฤกษ์หรือเทวีฤกษ์หรือมหัทธโนฤกษ์บ้าง ก็จะได้วันที่ดีที่สุดที่ไม่ขัดแย้งกันทั้ง 3 กฎเกณฑ์ข้างต้น และเป็นวันหยุดครับ วันนั้นคือวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำเดือน 3 ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ดาวจันทร์สถิตราชาแห่งฤกษ์