วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ฤกษ์คลอด ตอนที่ ๘ - วิชาการ (จบ)

มาว่ากันต่อจากตอนที่แล้วครับ คราวนี้เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ที่สำคัญมากทางโหราศาสาตร์ ที่จะช่วยให้ฤกษ์คลอดที่ได้นั้นส่งผลดีกับเด็กในระดับสูงหรือต่ำเพียงใด


ลิ้งค์บทความที่เกี่ยวข้อง
1. ฤกษ์คลอด ตอนที่ ๗ - วิชาการ



6. มาตรฐานดาว

สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนการพยากรณ์ ก็คือเรื่องของตำแหน่งมาตรฐานต่างๆของดาวในดวงชะตาว่ามีคุณภาพความมั่นคงแข็งแรงหรืออ่อนแอเพียงใด เพื่อเอาไว้ใช้ในการพยากรณ์ให้มีความหนักเบาของเหตุการณ์ตามแต่คุณภาพของดาว

ตำแหน่งที่ให้คุณมากได้แก่ เกษตร อุจจ์ มหาจักร ราชาโชค
ตำแหน่งที่ให้โทษมากได้แก่ ประ นิจ

ส่วนตำแหน่งมาตรฐานดาวดังกล่าวจะอยู่ที่ราศีไหนบ้างนั้น ศึกษาได้จากตำราโหราศาสตร์ไทยพื้นฐานทั่วๆไป


7. องค์เกณฑ์

นอกจากตำแหน่งมาตรฐานของดาวดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีกฎเกณฑ์สำคัญที่จะช่วยแสดงถึงวาสนาของเจ้าชะตาว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากน้อยเพียงใด

เรียกว่า องค์เกณฑ์ ได้แก่ ปัศวเกณฑ์ นรเกณฑ์ อำพุเกณฑ์ และกีฏเกณฑ์

เรื่องเกี่ยวกับองค์เกณฑ์นี้ ถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่โหรไทยนิยมยกย่อง เนื่องจากว่าถึงดาวจะได้มาตรฐานต่ำแต่ก็ยังให้คุณได้เป็นอย่างดี

วิธีพิจารณาว่าดวงชะตามีองค์เกณฑ์หรือไม่นั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมากพอสมควร จึงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้


8. ดาวเข้ารูปต่างๆ

เรื่องรูปแบบของดาวก็เป็นอีกอันหนึ่งที่โหรไม่ควรมองข้ามยกตัวอย่างเช่น ปัญจมหาบุรุษโยค จตุสดัยเกณฑ์ เจ้าเรือนลัคนาเป็นอุจจ์หรือเกษตร จันทร์ครุสุริยา ตรีโกณ สามเส้า มาลัยโยค ฯลฯ ซึ่งก็มีรายละเอียดค่อนข้างมากเช่นกัน จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้ สำหรับผู้สนใจก็คงต้องใช้ความพยายามเสาะแสวงหากันมากหน่อย เนื่องจากตำราเรื่องนี้หาอ่านกันได้ไม่ง่ายนัก


9. นวางศ์ ตรียางศ์

การพยากรณ์จะมีความละเอียดลออแม่นยำมากยิ่งขึ้น ถ้าได้มีการนำสมผุสที่ถูกต้องตามเวลาจริงๆมาตรวจให้ลึกไปถึงเรื่องของนวางศ์และตรียางศ์ เนื่องจากทั้งนวางศ์และตรียางศ์สามารถนำไปใช้พยากรณ์ลักษณะนิสัยใจคอที่แท้จริงได้ หรืออาจจะนำไปใช้ตรวจดูคุณภาพของดาวว่าให้คุณหรือโทษรุนแรงเพียงใด

ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ ดาวดวงใดได้ตำแหน่งที่เรียกว่า วรโคตมนวางศ์ ถือว่าดาวนั้นมีคุณภาพเทียบเท่าเกษตรหรืออุจจ์กันเลยทีเดียว

วิธีการหาตำแหน่งวรโคตมนวางศ์ ก็จะไม่ขอกล่าวถึงอีกเช่นกัน


10. ดาวสถิตในทุสถานภพ

คำว่าทุสถานภพได้แก่เรือนอริ มรณะ และวินาสน์ ในดวงชะตาของบุคคลที่จะประสบความสำเร็จอย่างมีความสุข มักจะไม่ค่อยมีดาวดวงใหญ่ๆอย่างเช่นดาวพฤหัส ดาวเสาร์ หรือราหู สถิตอยู่มากนัก

ดาวเจ้าเรือนอะไรก็ตาม ถ้าไปสถิตอยู่ในทุสถานภพแล้ว ก็มักจะเสียในเรื่องนั้นๆ

การพิจารณาก็ทำได้ง่ายๆโดยนำดวงชะตาของวันที่จะคลอดมาวิเคราะห์ไปทีละราศี จนพบว่ามีดาวที่สถิตอยู่ในทุสถานภพเป็นจำนวนน้อยที่สุด


11. ดาวเบียนดวงชะตา

ในที่นี้หมายถึงดาวที่สถิตอยู่ที่เดียวกันกับลัคนา มีข้อพิจารณาง่ายๆก็คือ ดาวนั้นเป็นดาวศุภเคราะห์หรือดาวบาปเคราะห์ และดาวนั้นเป็นดาวเจ้าเรือนอริ มรณะ หรือวินาสน์หรือไม่

ถ้าดาวที่อยู่ร่วมกับลัคนาเป็นดาวศุภเคราะห์และไม่เป็นเจ้าเรือนอริ มรณะหรือวินาสน์ จะเป็นการดีที่สุด หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ที่ดาวจะต้องเป็นเจ้าเรือนอริ มรณะหรือวินาสน์ ก็คงต้องแล้วแต่วิจารณญาณของโหรแต่ละท่านเอง แต่ที่เสียน้อยที่สุดคงจะเป็นเจ้าเรือนอริ รองลงมาคือเจ้าเรือนวินาสน์ เสียมากที่สุดคือเจ้าเรือนมรณะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังไม่มีดวงของใครที่ดีเลิศไปหมดทุกอย่าง ต้องมีดี มีเสียบ้าง แต่การวางฤกษ์คลอด ต้องพยายามให้เสียน้อยที่สุด


12. ทักษา

ถึงแม้ว่าเรื่องทักษาสำหรับบางท่านอาจจะไม่ถือเป็นโหราศาสตร์ และเป็นสิ่งที่หาข้อพิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากไม่มีการนำตำแหน่งของดวงดาวมาคำนวณ แต่ก็ไม่ควรจะละเลย เนื่องจากเป็นเรื่องหนึ่งที่มีสถิติพอจะให้ความไว้วางใจได้ โหรบางท่านมักจะนำมาใช้เกี่ยวกับการตรวจสอบยืนยันการพยากรณ์กับโหราศาสตร์ ถ้าในทางโหราศาสตร์ว่าดี แต่ทางทักษาว่าไม่ดี ก็เป็นข้อพิจารณาในการยับยั้งคำพยากรณ์ได้

ในการวางฤกษ์คลอดก็มักจะนำดาวที่เป็นศรี ไปวางไว้ในเรือนที่ต้องการให้เกิดผลดี เช่น เกิดวันอังคาร ดาวพฤหัสเป็นศรี ถ้าวางให้เรือนที่ดาวพฤหัสสถิตอยู่เป็นกดุมภะ ก็จะทำให้เกิดผลดีทางการเงิน หรือมักจะทำให้ร่ำรวยนั่นเอง


อย่างไรก็ดี หลักการดังกล่าวทั้ง 12 ข้อ ก็เป็นเพียงพื้นฐานโดยทั่วไปที่ช่วยให้การวางฤกษ์คลอดมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น แต่มีสิ่งที่สำคัญมากอีกสิ่งหนึ่งคือการเก็บรวบรวมสถิติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงในคราวจำเป็น เช่นนำไปเป็นตัวอย่างให้กับพ่อแม่เด็กที่ต้องการวางฤกษ์คลอด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับทั้งพ่อแม่เด็กและโหร และเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับวงการโหรด้วยอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเป็นวิธีการให้ข้อมูลที่น่าจะเชื่อถือได้ตามหลักการทางสถิติ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น